TGAT คืออะไร ต้องสอบทุกคนไหม ? เข้าเรียนต่อคณะอะไรได้บ้าง ?
สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อการสอบ TCAS67 คงเคยได้ยินเกี่ยวกับวิชา TGAT กันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าคณะที่ตนเองต้องการจะไปศึกษาต่อนั้น ต้องสอบ TGAT หรือไม่ รวมถึง TGAT ต้องสอบทุกคนไหม ซึ่งในบทความนี้ จะขอพาน้อง ๆ ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสอบ TGAT กันให้มากขึ้น รวมถึงมีวิธีเตรียมตัวนอกจากการติวสอบ TGAT มาบอกกันด้วย ติดตามกันได้เลย
Table of Content
TGAT คืออะไร ?
TGAT (Thai General Aptitude Test) คือการสอบเพื่อวัดความถนัดทั่วไป ซึ่งได้รับการปรับปรุงเพื่อต่อยอดมาจากข้อสอบ GAT ที่มีวัตถุประสงค์ในการลดความซ้ำซ้อนของวิชาที่ใช้สอบลง โดยเน้นการเอาวิชาความรู้ไปประยุกต์ใช้จริง มากกว่าการท่องจำ โดยคะแนนสอบที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการสมัครเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป
TGAT ต้องสอบอะไรบ้าง ต้องสอบทุกคนไหม ?
สำหรับข้อสอบ TGAT นั้นมีคะแนนเต็ม 300 คะแนน และแบ่งเป็น 3 พาร์ต คือ
- Part 1 การสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Communication) โดยจะเป็นข้อสอบที่เน้นการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน ข้อสอบเป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก 100 คะแนน ซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องสอบ ได้แก่
- ทักษะการพูด ประกอบไปด้วย
- การถาม-ตอบ
- เติมบทสนทนาแบบสั้น
- เติมบทสนทนาแบบยาว
- ทักษะการอ่าน ประกอบไปด้วย
- เติมข้อความเนื้อเรื่องให้สมบูรณ์
- อ่านเพื่อจับใจความ
- Part 2 การคิดอย่างมีเหตุผล (Critical & Logical Thinking) โดยจะเป็นข้อสอบที่เน้นการเข้าใจ วิพากษ์ข้อมูลข่าวสาร ติดอย่างมีตรรกะ และใช้เหตุผลเชิงปริมาณ ข้อสอบเป็นแบบปรนัย 5 ตัวเลือก คะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องสอบ ได้แก่
- ความสามารถทางภาษา ประกอบไปด้วย
- การสื่อความหมาย
- การใช้ภาษา
- การอ่าน
- การเข้าใจภาษา
- ความสามารถทางตัวเลข ประกอบไปด้วย
- อนุกรมมิติ
- การเปรียบเทียบเชิงปริมาณ
- ความเพียงพอของข้อมูล
- โจทย์ปัญหา
- ความสามารถทางมิติสัมพันธ์ ประกอบไปด้วย
- แบบพับกล่อง
- แบบหาภาพต่าง
- แบบหมุนภาพสามมิติ
- แบบประกอบภาพ
- ความสามารถทางเหตุผล ประกอบไปด้วย
- อนุกรมภาพ
- อุปมาอุปไมยภาพ
- สรุปความ
- วิเคราะห์ข้อความ
- Part 3 สมรรถนะการทำงานในอนาคต (Future Workforce Competencies) โดยจะเป็นข้อสอบที่เน้นทำความเข้าใจ และแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ข้อสอบเป็นปรนัย 4 ตัวเลือก คะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งมีเนื้อหาที่ต้องสอบ ได้แก่
- การสร้างคุณค่าและนวัตกรรม ประกอบไปด้วย
- การคิดเชิงวิเคราะห์
- การแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ
- ความคิดเชิงนวัตกรรม
- การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน ประกอบไปด้วย
- การระบุปัญหา
- การแสวงหาทางออก
- การนำทางออกไปแก้ปัญหา
- การประเมินทางออกเพื่อการพัฒนาปรับปรุง
- การบริหารจัดการอารมณ์ ประกอบไปด้วย
- ความตระหนักรู้ตนเอง
- การควบคุมอารมณ์และบุคลิกภาพ
- ความเข้าใจผู้อื่น
- การเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมของสังคม ประกอบไปด้วย
- การมุ่งเน้นการบริการสังคม
- จิตสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
- การสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
อย่างไรก็ดี การสอบ TGAT ไม่ใช่การสอบภาคบังคับ จึงไม่จำเป็นต้องสอบทุกคน แต่คะแนนสอบจะถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการศึกษาต่อในหลายมหาวิทยาลัยชั้นนำอีกด้วย
TGAT ใช้ยื่นสมัครเข้าเรียนต่อรอบไหนได้บ้าง ?
การสอบ TGAT สามารถนำคะแนนสอบไปใช้ยื่นสมัครเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยในระบบ TCAS ได้ถึง 3 รอบ จาก ทั้งหมด 4 รอบของ TCAS ได้แก่
- รอบ Portfolio (ใช้แฟ้มสะสมผลงาน)
- รอบ Quota (รอบโควตา)
- รอบ Admission (รอบแอดมิชชั่น)
มหาวิทยาลัยและคณะที่ต้องใช้คะแนนสอบ TGAT
สำหรับคณะและมหาวิทยาลัยที่ต้องใช้คะแนน TGAT ในการยื่นสมัครเข้าเรียน มีอยู่หลากหลายแห่งด้วยกัน โดยมีที่ได้รับความนิยม ดังนี้
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
- มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ (บางสาขา)
- มหาวิทยาลัยบูรพา ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ (บางสาขา) คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะวิทยาการสารสนเทศ
- มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ คณะกายภาพบำบัด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการกีฬา
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์ (บางสาขา)
- มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้แก่ คณะโบราณคดี (สังคมวิทยา) คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาการจัดการ (การท่องเที่ยวและการโรงแรม)
- มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ (บางสาขา) และคณะเทคนิคการแพทย์
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ (สาขาจิตวิทยา) คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม คณะวิทยาศาสตร์ (บางสาขา) คณะศึกษาศาสตร์ (บางสาขา) คณะสังคมศาสตร์ (นิติศาสตร์)
เคล็ดลับการเตรียมตัวสอบ TGAT
อ่านหนังสือทบทวนเนื้อหา
สิ่งสำคัญประการแรกในการเตรียมสอบ TGAT คือการอ่านหนังสือเพื่อทบทวนความรู้ในส่วนของเนื้อหาที่จะออกสอบทั้งหมด รวมทั้งต้องไม่ลืมทำสรุปเนื้อหาที่ได้อ่านออกมาเป็นพาร์ตต่าง ๆ ตามที่ข้อสอบ TGAT ได้กำหนดไว้ เพื่อที่จะได้นำมาอ่านทบทวนในภายหลังได้
ทำข้อสอบเก่า
เคล็ดลับต่อมาที่สามารถนำไปปรับใช้ได้กับการสอบทุกวิชา รวมถึง TGAT ด้วยเช่นกัน นั่นคือการหาข้อสอบปีเก่า ๆ มาฝึกทำ เพื่อที่จะได้เห็นแนวทางของข้อสอบ และยังช่วยวางแผนได้ด้วยว่า ต้องใช้เวลาในการทำข้อสอบแต่ละพาร์ตมากน้อยเพียงใด เพื่อให้เมื่อถึงเวลาทำข้อสอบจริงจะได้มีความมั่นใจ ซึ่งจะส่งผลให้ได้คะแนนสอบที่ดีอีกด้วย
ติวเพิ่มเติมความรู้
นอกจากการทบทวนเนื้อหาและฝึกทำข้อสอบแล้ว การติวเพิ่มกับติวเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญ ก็จะช่วยให้มีเทคนิคการทำข้อสอบใหม่ ๆ และเสริมความรู้ในจุดที่ยังไม่แม่นยำ แถมยังเพิ่มโอกาสได้คะแนนที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย